วัดน่าเที่ยวสกลนคร



วัดถ้ำผาแด่น





วัดถ้ำผาแด่น  ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 17 กม.  เป็นอีกหนึ่งใน สถานที่ที่ห้ามพลาดของสกลนคร ที่งดงามด้วยงานแกะสลักบนหน้าผาหินที่มีเอกลักษณ์วิจิตรศิลป์ สวยสดงดงามถ่ายทอดเรื่องราว พุทธประวัติ  เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสกลนคร มีความเป็นมานับร้อยปี โดยมีชื่อตามทะเบียนสำนักพระพุทธศาสนา แห่งชาติ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 สภาพธรรมชาติร่มรื่นมีต้นไม้ และโขดหินขนาดใหญ่ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ซึ่งในอดีตได้มี พระเกจิอาจารย์ สายวิปัสสนาหลายองค์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาจำพรรษาด้วย และเมื่อช่วงปี 2550 พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็น สถานที่ท่องเที่ยว เชิงธรรมะ เพื่อดึงประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น  วัดตั้งอยู่บนภูเขาสูง ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น โดยมีการจัดพื้นที่ ให้สามารถชมทิวทัศน์และถ่ายรูป บริเวณศาลาผาแดงมองเห็นตัวเมืองสกลนครและทะเลสาบหนองหารได้แบบ 180 องศา





ภายในวัดเต็มไปด้วยงานประติมากรรมแกะสลักหินทรายประติมากรรมหินทรายขนาดใหญ่ถูกแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ  เช่น ภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีหไสยาสน์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 19 เมตร เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของผู้มาเยือน ประดิษฐาน ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นจุดเด่น ของวัดถ้ำผาแด่น





ภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ด้านหลังเป็นภาพพระอริยสงฆ์รูปต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนด้านข้าง คือ พญาครุฑเวสสุวรรณ สื่อถึงความอยากได้อำนาจ เงินตราของมนุษย์อย่างไม่สิ้นสุด ด้านบนเป็นที่ตั้งของหินสีทอง ที่สามาถมองเห็นมาแต่ไกล เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล พร้อมแกะสลักหิน สื่อถึงรูปต่างๆ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงมนุษย์นาค ครุฑ ยักษ์มาร และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุ 




ภาพแกะสลักรอยพระพุทธบาท 4 รอยจำลอง สื่อให้พุทธศาสนิกชนตระหนักในคำสอนของพระพุทธเจ้า และหินก้อนที่อยู่ด้านล่างสุด เป็นภาพแกะสลักหิน 4 มหาเทพ หรือเรียกว่าหินเทพ  สื่อถึงการมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ แต่ยังไม่หลุดพ้นวัฏสงสาร




บริเวณรอบวัดยังมีการแกะสลักหินรูปปั้นหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ แกะจากหินขนาดใหญ่ทั้งก้อนมีช้างหมอบด้านข้างและมีงูใหญ่คอย ปกป้อง เป็นองค์ประธานให้ประชาชนได้กราบไหว้ ภาพแกะสลักพระพุทธรูปประจำวันเกิด ปางต่างๆ นอกจากนี้ยังมีศาลายาใจ คนบุญ ที่นำเอาต้นไม้ขนาดใหญ่หายากอายุหลายร้อยปี มาทำเป็นเสาศาลาเป็นการอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูอีกด้วย


วัดป่าสุทธาวาส





ประวัติความเป็นมา หลวงปู่เสาร์ กันตสีลเถระ กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระได้รับการอาราธนาจาก อุบาสิกาสามพี่น้อง ได้แก่ นางนุ่ม, นางนิล ชุวานนท์ และนางลูกอินทร์ วัฒนสุชาติ ผู้มีความเลื่อมใสในพระอาจารย์ทั้งสอง มาจำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านบาก ต่อมาจึงได้ดำเนินการสร้างเป็นวัดป่าสุทธาวาส  ครั้งใน พ.ศ. 2484 ท่านจึงไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จวบจนวาระที่ท่านใกล้มรณภาพจึงได้มาทิ้งขันธ์ ณ วัดป่าสุทธาวาสใน พ.ศ. 2492 ส่วนสภาพวัดในปัจจุบันยังคงความร่มรื่นร่มเย็น สมกับเป็นสถานที่ที่องค์หลวงปู่มั่นเลือกจะมาพักอาพาธ หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2492 แล้ว อาการป่วยขององค์หลวงปู่มั่นหนักขึ้นทุกวัน ท่านทราบถึงความเป็นไปในอนาคตแล้วปรารภที่จะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาสในเมืองสกลนคร จึงได้มีการจะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส โดยอาราธนาท่านพักบนคานหามแวะพักที่ศาลาหลังเล็กวัดป่าบ้านกลางโนนภู่ก่อนเป็นเวลา 11 วัน การที่ท่านมาพักที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่นี้ก็เพื่อโปรดนายอ่อน โมราราษฎร์ผู้สร้างวัดนี้และเป็นโยมที่อุปัฏฐากที่คอยช่วยเหลือท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือ  ตลอดระยะเวลา 5 ปี

ปัจจุบันกลายสภาพเป็นวัดป่ากลางเมือง เป็นสำนักเรียนสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ในสกลนคร ปูชนียสถานสำคัญภายในวัดนอกจากอุโบสถและพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นแล้ว ก็ยังมี “จันทสารเจติยานุสรณ์” เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโรอีกด้วย โดยเจดีย์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสว่า “ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระท่านจะได้อยู่ใกล้กัน”และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ร่างแบบเจดีย์องค์นี้ ด้วยพระองค์เอง พระราชทาน











วัดพระธาตุภุเพ็ก




พระธาตุภูเพ็ก หรือ ปราสาทภูเพ็ก จัดเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่บนภูเขา ประดิษฐานบนเทือกเขาภูพาน ณ วัดพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ลักษณะ
 พระธาตุภูเพ็ก เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยหินทราย เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาทมีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อน ๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาท เรียกว่า โคปุระ สูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุม ๆ ละ ๕ เหลี่ยม รวมเป็น ๒๐ เหลี่ยม ความกว้างของปราสาทโดยรอบกว้างด้านละ ๑๑ เมตร มีชานเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ความสูงจากพื้นดินถึงฐานชั้นที่ ๑ สูง ๑.๕๘ เมตร จากฐานชั้นที่ ๑ ถึงฐานชั้นที่ ๒ สูง .๗๐ เมตร ตัวเรือนปราสาททั้ง ๓ ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบพบสระน้ำโบราณและแหล่งสกัดหินในการสร้างปราสาท หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกและมีบันไดหินก่อปูนขึ้นบนยอดเขาประมาณ 491 ขั้น ตามตำนานสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง

การเดินทาง
 พระธาตุภูเพ็กห่างจากตัวอำเภอพรรณานิคมประมาณ 31 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสกลนคร ประมาณ 22 กิโลเมตรตามทางหลวงหมายเลข 22 กม.ที่ 139 แยกซ้าย(เมื่อหันหน้าไปทางอุดรธานี)ไปตามทาง รพช.2016 เป็นทางรถยนต์ลาดยางจากถนนเข้าไปตถึงหมู่บ้านภูเพ็ก หรือแต่เดิมเรียกชื่อ บ้านอ่าง ระยะทาง 8 กม.เป็นทางลาดยาง และเป็นระยะทางลาดยางขึ้นภูเพ็ก อีก 4 กม.ซึ่งช่วงนี้เป็นเส้นทางขึ้นภูเขาสูงคดเคี้ยวให้ใช้ความเร็วอย่างระมัดระวัง








พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์





พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์  จังหวัดสกลนคร เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในบริเวณเทือกเขาภูพาน ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จสำรวจเส้นทางบริเวณ ป่าเขา น้ำตก เป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณพระตำหนักซึ่งประกอบด้วยเขตพระราชฐานชั้นในและ เขตพระราชฐานชั้นนอก พื้นที่บริเวณพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อแรกตั้งพระตำหนักมี ๙๔๐ ไร่ ในเวลาต่อมาได้ขยายเขตพื้นที่ เพื่อ จัดทำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าคืนชีวิตสู่ธรรมชาติอีกประมาณ ๑,๐๑๐ ไร่ รวมเป็นพื้นที่ ๑,๙๕๐ ไร่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นแหล่งที่สะดวกต่อการเดินทางไปท่องเที่ยว ทั้งนี้เพราะอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองสกลนครอยู่ริมถนนหลวงสายสกลนคร - กาฬสินธุ์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้งรถยนต์ส่วนตัวและการนำพาหนะเข้าชม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่กองรักษาการ เพื่อเข้าชมพระตำหนักชั้นนอกได้โดยสะดวก หากต้องการชมพระตำหนักชั้นในต้องติดต่อทางราชการเพื่อขออนุญาตจากผู้ดูแล พระตำหนักเป็นการล่วงหน้า ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไม่มีพระองค์ใดประทับอยู่ ทางสำนักเลขาธิการพระราชวังจะอนุญาติให้ประชาชน ทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เรียกว่าเป็นสวรรค์ของคนรัก ต้นไม้ได้เลยทีเดียว เนื่องจากภายในเต็มไปด้วย ไม้นานาพรรณโดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งนี้ พันธุ์ไม้ที่เป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ได้แก่ พันธุ์ไม้ดอกจากป่าภูพาน อาทิ ดุสิตา มณีเทวา และทิพย์เกสร ซึ่งจะมีให้ชมเฉพาะช่วงหน้าหนาว

สวนในพระตำหนักภูพานอาจจัดสวนได้ ๕ รูปแบบคือ

๑. สวนรวมพันธุ์ไม้ (Mixed garden)
๒. สวนแบบประดิษฐ์ (Formal Style)
๓. สวนแบบธรรมชาติ (Informal Style)
๔. สวนหินประดับประดา (Rock garden)
๕. สวนประดับหิน (Stone garden)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น