วัดพระธาตุเชิงชุม
ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็น ที่เคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ยอดฉัตรเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ หนัก 247 บาท ภายในมีรอยพระพุทธบาท 4 พระองค์ นับตั้งแต่พระกกุสันทะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคดม วัดพระธาตุเชิงชุม นับเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ดังคำกล่าวที่ว่า “จะมีครั้งไหนที่ได้อานิสงส์มากไปกว่าการได้มาบูชา พระธาตุที่สร้าง ครอบรอยพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์” เชื่อกันว่าอานิสงส์ในการนมัสการพระธาตุเชิงชุมนั้นจะก่อให้เกิดความ เป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ตนเองและครอบครัวให้มีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปราศจากอันตราย รวมไปถึงการนมัสการหลวงพ่อ พระองค์แสน ที่เชื่อกันว่าให้พรในด้านโชคลาภ ให้มีเงินทองนับหมื่นนับแสน มีความมั่งมีศรีสุขในชีวิต ในทุกวันจะมีประชาชนมากราบ ไหว้พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระแสนเป็นจำนวนมากทีเดียว ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)
พระธาตุเชิงชุม
ตั้งหันหน้าไปทางหนองหานที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบน เป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วย ศิลาแลงและหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก ซุ้มประตูทางเข้าจริงด้านทิศตะวันออกแต่แรกเริ่ม พระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอม โบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้างเนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามา บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่
วิหาร
ภายในพระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาว สกลนคร
อุโบสถ
พ.ศ. 2370 สร้างพระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้องไม้แบบ เดิม หันหน้าไปทางทิศใต้ ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝา ผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และ เป็นปูนปั้น
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
เป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ผ่านศูนย์ราชการด้านทิศเหนือ ผ่านใจกลางเมืองข้างวัดเหนือ แล้วไหลมาผุดที่นี่ เรียกว่า "ภูน้ำซอด" หรือ "ภูน้ำลอด" แล้วไหลผ่านไป ที่สระพังทอง ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ติดกับวัด เมื่อน้ำน้อยลงเรื่อยๆจึงได้มีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ในอดีตจะมี การนำน้ำจากบ่อน้ำที่นี่ไปประกอบพิธีเมื่อมีพิธีกรรมอันสำคัญต่างๆอีกด้วย
หอกลอง
หอกลองหรือหอระฆัง เป็นหอกลองสูงทั้งหมดสามชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยชาวเวียดนามที่ได้มาพำนักอาศัย ณ จังหวัดสกลนคร ร่วมใจกันสร้างขึ้นถวายองค์พระธาตุเชิงชุมเพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อใช้บอกเวลายามต่างๆ
การเดินทาง
จากจังหวัดสกลนครให้ขับเข้าไปในเขตเทศบาลเมืองสกลนครไปตามถนนเจริญเมือง จนสุดถนนวัดพระธาตุเชิงชุมติดกับหนองหาร หลวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น