ชนเผาในจังหวัดสกลนครมีทั้งหมด 6 ชนเผา คือ
1.ชนเผ่าไทรญ้อ
กลุ่มชาติพันธุ์ ย้อ ไทย้อ ญ้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม มีภาษาพูดเหมือนภาษาไทยลาว ต่างสำเนียงเล็กน้อย คือ น้ำเสียงสูงอ่อน หวาน ไม่ห้วนสั้นเหมือนไทยลาว ผิวขาว บ้านเรือนสะอาดตาเช่นเดียวกับชาวผู้ไทย ชาวย้อถือว่ากลุ่มตนเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแข็งกว่าไทยลาว ถิ่นฐานเดิมของไทยญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง
ไทยญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป
|
แล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนเมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
ชาวไทย้อชอบตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งชื่อเมืองชาวไทย้อมักมีคำว่า “ท่า” ขึ้นก่อน เช่น เมืองท่าขอนยาง เมืองท่าอุเทน ลักษณะบ้านเรือนของชาว ไทย้อ คล้ายกับบ้านเรือนของชาวไทยลาวทั่วไป คือตัวเรือนเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีชายคาที่เรียกว่า เซีย มีชานติดกับครัว มีเล้าข้าวอยู่ทางด้านหลังบ้าน ถ้าเป็นบ้านของชาวไร่ชาวนาทั่วไป ก็จะมุงด้วยหญ้าแฝก ฝาผนังเป็นฟากสับสานลานสอง บ้านที่มีฐานะดีก็จะ มุง ด้วยกระเบื้องเกร็ดหรือสังกะสี และเปลี่ยนฝาผนังเป็นไม้กระดาน ซึ่งมีให้เห็นในปัจจุบัน ชาวย้อ นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มสังคมย่อยในวงศ์ญาติพี่น้องของตน และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็กลายเป็นหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า “คุ้ม” และมีวัดประจำคุ้มของพวกตน
ภาษา ภาษาชาวย้อจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กระได ชาวย้อมีภาษาพูดโดยพื้นฐานเสียงแตกต่างไปจากภาษาไทยลาว (ภาษาไทยอีสาน) ตรงที่ฐานเสียงอักษรสูง และเสียงจัตวา จะเน้นหนักในลำคอ น้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ฐานเสียงสระ เอือ ใอ ในภาษาไทยลาวจะตรงกับฐานเสียงสระ เอีย และ เออ ตามลำดับ เช่น เฮือ เป็น เฮีย ให้ เป็น เห้อ ประโยคว่า อยู่ทาง ได เป็น อยู่ทางเลอ เจ้าสิไปไส เป็น เจ้านะไปกะเลอ เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาพูดของชาวย้อ หัวเจอ - หัวใจ, หมากเผ็ด - พริก, กินเข้างาย - กินข้าวเช้า, หัวสิเคอ - ตะไค้, ไปกะเลอ, ไปเตอ - ไปไหน ชาวไทย้อไม่มีภาษาเขียนไม่มีตัวอักษรของตนเอง ในอดีตเคยใช้อักษรธรรม หรืออักษรไทยน้อย เช่นเดียวกับชาวอีสาน ปัจจุบันใช้อักษรไทยทั้งสิ้น
ศิลปะการแสดง ฟ้อนไทย้อ โดยจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน และเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น ในช่วงสงกรานต์นั้น ชาวไทย้อจะมีการสงน้ำพระในตอนกลางวันโดย มีการตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ตามลำดับ ตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำเป็นไป จนถึงวันเพ็ญสิบห้าค่ำเดือนห้า ส่วนในตอนกลางคืนหนุ่มสาวจะจัดขบวนแห่นำต้นดอกจำปา (ลั่นทม) ไปบูชาวัดที่ผ่านไป เริ่มจากวัดใต้สุดขึ้นไปตามลำดับถึงวัดเหนือสุดซึ่งเป็นคืนสุดท้าย เสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุท่าอุเทน จะเป็นช่วงแห่งการเกี้ยวพาราสี การหยอกล้อกัน อย่างสนุกสนานของบรรดาหนุ่มสาวชาวไทย้อ
การแต่งกายชุดรำไทยญ้อ
ชาย สวมเสื้อคอพวงมาลัยสีเขียวสด ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพับครึ่งกลาง พาดไหล่ ซ้ายและขวา ปล่อยชายสองข้างไปด้านหลังให้ชายเท่ากัน นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม ใช้สไบไหมสีแดงคาดเอว ปล่อยชายข้างซ้ายด้านหน้า เครื่องประดับสร้อยเงิน ห้อยพระ ใบหูทัดดอก ดาวเรืองด้านซ้าย
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีชมพู (สีบานเย็น) คอกลมขลิบดำ หรือน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงไหมสีน้ำเงินมีเชิง (ตีนจก) เข็มขัดลายชิดคาดเอว ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพาดไหล่ด้านซ้ายแบบเฉียง ปล่อยชายยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้ชายเท่ากัน เครื่องประดับสร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือเครื่องเงิน ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์
2.ชนเผ่าภูไท
วัฒนธรรมภูไทความเป็นมาของเผ่าภูไท
ชาวภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทในภาคเหนือของลาว และญวน กลุ่มภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดอาจจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน
เช่น จังหวัดนครพนม ได้แก่อำเภอคำชะอี ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จังหวัดสกลนคร ได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ เขาวง สหัสขันธ์ ส่วนภูไทผู้เข้าสู่ภาคกลางในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ในย่านนั้นเรียกว่า ‘ลาวโซ่ง’
เผ่าภูไท เป็นคนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และอาณาจักรล้านช้าง การเคลื่อนย้ายของชาวภูไท เข้าสู่ภาคอีสานมีหลายครั้ง และมาจากที่ต่างๆ จึงทำให้กลุ่มภูไทที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดสกลนคร เรียกชื่อตัวเองตามแหล่งเมืองเดิมของตนเช่น ผู้ไทวัง คือ ผู้ไทที่อพยพมาจากเวงวัง มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอพรรณานิคม
ผู้ไทกระป๋อง คือภูไทที่อพยพมาจากเมืองกะปอง มาตั้งบ้านเรือนในเขตอำเภอวาริชภูมิ ผู้ไทกะตาก คือผู้ไทที่อพมาจากเมืองกะตาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตำบลโนนหอม และแถบริมหนองหาร ทางทิศใต้
ชาวภูไทมีลักษณะความเป็นอยู่แบบครอบครัวใหญ่ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ ทำงานได้หลายอาชีพเช่น ทำนา ทำไร่ ค้าวัว ค้าควาย นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายต่างถิ่นเรียกว่า ‘นายฮ้อย’ เผ่าภูไทเป็นกลุ่มที่พัฒนาได้เร็วกว่าเผ่าอื่น มีความรู้ความเข้าใจและมีความเข้มแข็งในการปกครอง มีหน้าตาที่สวย ผิวพรรณดี กริยามารยาทแช่ม
เผ่าภูไทนิยมนุ่งผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อ เป็นผืนเดียวกันกับผ้าผืนกว้างประมาณ 4-5 นิ้ว ย้อมครมเกือบสีดำ เรียกว่าผ้าดำหรือซิ่นดำ สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน สำดำขลิบแดง ติดกระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ หรือกระดุมขาวมาติดเรียงสองแถวห่มด้วยผ้าขิดพื้นเมือง เปลือยไหล่ด้านขวา ห่มด้านซ้ายและมัดชายผ้าสีข้างด้านขวา นิยมสวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า ด้วยโลหะเงิน เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรง ใช้ผ้ามนหรือแพรมนทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม
ฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนคร เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ
เครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
เครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
3.ชนเผ่าไทโย้ย
ไทโย้ย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาของการอพยพมาจากบ้านหอมท้าวประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่2 สาเหตุของการอพยพ เนื่องจากต้องการแสวงหาพื้นที่ทำมาหากิน และอพยพมาด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกกวาดต้อนหรือขับไล่โดยได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงอาศัยแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยามตามลำดับ แล้วมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เรียกว่าบ้านม่วงริมยาม ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย และอีกส่วนหนึ่งก็ได้อพยพเคลื่อนต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภออากาศอำนวยเข้าไปอยู่ในอำเภอวานรนิวาสชาวโย้ยเข้ามาอาศัยในบ้านม่วงริมยามซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม(สาเหตุที่เรียกว่าบ้านม่วงริมยามเพราะมี ลำน้ำยามไหลผ่าน)บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก จึงทำให้มีราษฎรจากที่อื่นอพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น การอาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางการคมนาคม จึงทำให้ชาวโย้ยสามารถเลือกทำเลการตั้งถิ่นฐานได้ เพราะลำน้ำยามสามารถติดต่อกับแม่น้ำโขง สิ่งหนึ่งที่พอจะสันนิษฐานว่าชาวโย้ยอพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น ทำไมจึงไม่ถูกกีดกันจากฝ่ายไทยอาจจะเป็นเพราะขณะนั้นพลเมืองของไทยยังมีน้อยอยู่ การได้คนมาก็เป็นแรงงานในการพัฒนาบ้านเมือง สามารถใช้แรงงานเป็นไพร่จึงไม่ถูกกีดกันและอีกประการหนึ่งอาจจะเป็นเพราะในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น ดินแดนประเทศลาวเป็นเขตการปกครองของไทย การเคลื่อนย้ายจึงทำให้สะดวกดังจะเห็นได้จากหลักฐานปรากฏว่ารัชกาลที่ 2 ได้ทรงแต่ตั้งเจ้าเมืองครองเวียงจันทร์ครั้นถึงปีชวด จุลศักราช 1166 พุทธศักราช 2357 พระเจ้าเชษฐาเจ้าเมืองเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองราชย์กรุงเวียงจันทน์สืบมาต่อมาในปี พ.ศ. 2370 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 3เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกบฏทำศึก สาเหตุต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากไทยกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกขึ้นไปปราบเข้าตีทัพเจ้าเมืองอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์แตกเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้เจ้าอนุวงศ์หนีไปอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้ว โดยนำตัวของพระบรมราชา (ม้ง) เจ้าเมืองนครพนมไปด้วย ในปี พ.ศ. 2357 กองทัพพระยาราชสุภาวดียกติดตามไปตีเมืองมหาชัยกองแก้วเจ้าเมืองหนีไปเมืองญวนและถึงแก่กรรมที่เมืองญวน
การยุบอำเภออากาศอำนวยช่วงนั้น ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่มีชุมชนหนาแน่นในตอนปากน้ำสงครามและมีความพยายามที่จะตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอและยังไม่สามารถหาชื่อกิ่งอำเภอได้เหมาะสม ดังจะเห็นว่าได้มีการรวบรวมผู้คนจากตำบล 7 ตำบล คือ บ้านแพง บ้านแวง นาทมบ้านข่า บ้านเดื่อ บ้านนาหว้า และบ้านสามผง ขอตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นที่บ้านสามผง โดยใช้ชื่อว่ากิ่งอำเภออากาศอำนวย ในปี พ.ศ. 2469 แต่กิ่งอำเภอแห่งนี้มีปัญหาน้ำท่วมที่ว่าการกิ่งอำเภอในฤดูน้ำหลาก ทางราชการจึงหาสถานที่ตั้งกิ่งอำเภออากาศอำนวยแห่งใหม่ที่บ้านเวินชัย ซึ่งอยู่ใกล้ ลำน้ำสงคราม แต่มีปัญหาเช่นเดียวกันกับที่บ้านสามผง ในที่สุดก็ย้ายมาตั้งกิ่งอำเภอที่บ้านท่าบ่อ ซึ่งอยู่ปากน้ำสงครามบรรจบลำน้ำยาม ในบริเวณแห่งนี้แม่ว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ แต่ปัญหาน้ำท่วมบริเวณที่ทำการสำคัญ ๆ ของรัฐบาลในฤดูน้ำหลาก ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อราชการของราษฎร จึงได้มีการยุบกิ่งอำเภออากาศอำนวยที่บ้านท่าบ่อเสียและตั้งกิ่งอำเภอแห่งใหม่ขึ้นที่บ้านศรีสงคราม ไม่ห่างจากบ้านท่าบ่อมากนัก ใน พ.ศ. 2496 (1)หลังจากนั้นมาอีก 10 ปี ในปี พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ตรวจราชการที่ภาคอีสาน ได้พิจารณาเห็นว่าราษฎรในเขต 4 ตำบล คือ ตำบลวาใหญ่ ตำบลอากาศตำบลโพนแพง ตำบลโพนงาม อยู่ห่างไกลจากอำเภอวานรนิวาส การติดต่อกับอำเภอไม่สะดวกประกอบกับมีปัญหาผู้ก่อการร้ายแทรกซึม จึงให้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 จึงถึงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 จึงได้รับการยกขึ้นเป็นอำเภออากาศอำนวยจึงถึงปัจจุบัน (2)-------------------------------(1) ปูมเมืองสกลนคร เนื่องในโอกาสฉลอง 150 ปี เมืองสกลนคร 17 สิงหาคม 2531หน้า 20(2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ประวัติจังหวัดสกลนคร
.
4.ชนเผ่าไทกะโส้
ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกกะโซ่เดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาวปัจจุบัน สำหรับเมืองมหาชัย เดิมชาวบ้านเรียกว่า "เมืองภูวา-นากะแด้ง" คือเมืองภูวดลฯ และบ้านนากะแด้ง เพราะว่าในสมัยที่ยังขึ้นกับราชอาณาจักรไทย (ก่อน พ.ศ.2436) เรียกว่า เมืองภูวดลสอางค์ เคยขึ้นกับเมืองสกลนคร แล้วโอนมาขึ้นกับเมืองนครพนมในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะโซ่อพยพ มาอยู่ในเขตเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากแขวงอัดปือไปอยู่ในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าพวก "ส่วย" หรือ "กุย" พูดภาษาเดียวกับพวกกะโซ่
พวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมืองคือ
- เมืองรามราช เป็นชาวกะโซ่จากเมืองเชียงฮ่ม (ปัจจุบันอยู่ในแขวง สุวรรณเขตติดชายแดนญวน) ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นเมืองนครพนมเมื่อ พ.ศ.2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวบัวจากเมือง เชียงฮ่ม เป็น "พระอุทัยประเทศ" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่ตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมเป็น หมู่บ้านชาวไทยกะโซ่
- เมืองกุสุมาลย์มณฑล เป็นชาวกะโซ่ที่อพยพมาจากเมืองมหาชัยในแขวงคำม่วน อพยพข้ามโขงมาอยู่ที่บ้าน กุดสุมารตั้งขึ้นเป็นเมืองกุสุมาลย์มณฑล ขึ้นเมืองสกลนครใน พ.ศ.2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เพี้ยเมืองสูงหัวหน้าชาวกะโซ่ เป็น "พระอารัญอาษา" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
ภาษาที่ใช้ภาษาคือภาษาโส้
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัด นครพนม เมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งจังหวัดมุกดาหารยังรวมอยู่ในจังหวัดนครพนม ชาวไทยกะโซ่ ได้แสดงโส้ทั่งบั้งหรือสะลาทอดพระเนตรพร้อมกับร้องคำถวายพระพรเป็นภาษากะโซ่ว่า
เซินตะดกละแสง เซินแต่แซงมะนาง เซินยอนางเอย ดรุ๊กอีตู จูเยก ยางเอย ดรุ๊กอีตูจูเยอวายเอย ไฮพัดกระกมติตอนจิรอ ไฮพัดระพอดิตรอนอิตูด ตะรงยางเอย ระกบเจ้ากวงมานะ
วอนเบาแบนเราะ เนออาญาเฮาเอย สะโอนเนาต๊กยะ วอนเบาแบนเราะ ดูกรองวไดเดอกะนางไฮเอย
คำแปล ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธ์ขุนเขา ขอเชิญแสงตะวันอันแรงกล้า เชิญเถิดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ จงมาให้ขวัญทั้งหลายจงมาร่วมกัน ณ ที่นี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเอย ขอให้มาคุ้มครองสองเจ้าเหนือหัว ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขเถิดพระเจ้าเราเอย ขอให้อย่ามีทุกข์และความเดือดร้อน ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขอยู่คู่เมืองไทย ปกป้องคุ้มครองพวกทั้งหลายตลอดไปเทอญ
5.ชนเผ่าไทกะเลิง
ชนเผ่ากะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในหลาย ๆ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมา การเลือกหลักแหล่งทำมาหากิน วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนภาษาพูดที่มีสำเนียงหรือถ้อยคำที่นิยมใช้กันเฉพาะในกลุ่มของตน ชนเผ่ากะเลิง เป็นกลุ่มที่ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบสูง ตามไหล่เขาและเมื่อกลุ่มกะเลิงลงมาอยู่พื้นที่ราบปะปนกับโย้ย ญ้อ ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรมภาษาพูดในกลุ่มไทย-ลาวชนเผ่ากะเลิง ก่อนจะอพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง จากการสันนิษฐานของนักวิชาการ กล่าวไว้ว่า ชาวจีนเขียนไว้ว่า คุณลุน หรือกุรุง จนเพี้ยนเป็น กะลุง ในภาษาจาม
ชนเผ่ากะเลิงในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นที่ยอมรับกันว่าได้อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อพยพข้ามมาหลายครั้ง นับตั้งแต่การปราบปรามเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 และอพยพครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเกิดกบฎจีนฮ่อ ที่ยกกำลังเข้ามาตีเมืองเชียงขวาง ชุมนุมพลอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ เตรียมยกเข้าตีหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง เมืองที่อยู่ในการปกครองของไทย คือเมืองหลวงพระบาง ก็ถูกคุกคามจากพวกฮ่อเช่นกัน ทำให้ไทยต้องยกกำลังไปปราบฮ่อ หลายครั้ง พร้อมทั้งส่งแม่ทัพนายกองเกณฑ์ทหารจากหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ไปช่วยปราบฮ่อด้วย
เมืองสกลนคร ถูกเกณฑ์ช้าง 25 เชือก โคต่าง 100 ตัว ข้าวสาร 300 ถัง กำลังพล 1,000 คน โดยมีอุปฮาด (โง่นคำ) กับราชวงศ์ (ฟอง) เป็นนายกองสะเบียงยกไป การทำศึกกับฮ่อหลายครั้ง ทำให้ผู้คนที่อยู่ตามเมืองต่างๆ เดือดร้อน วิตกกังวลถึงอันตรายที่เกิดขึ้น จึงได้มีการอพยพติดตามแม่ทัพนายกองเข้ามาอยู่ในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านชนเผ่ากะเลิงในบริเวณใกล้ๆ ตัวเมืองสกลนคร เช่น บ้านนายอ บ้านนามน บ้านโพนงาม ที่มีชนเผ่ากะเลิงอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นชนเผ่ากะเลิงที่อพยพมาจากเมืองภูวานากะแด้ง ในสมัยพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ)
ต่อมามีผู้นำชาวกะเลิงที่สมัครใจอพยพขึ้นไปตั้งหลักแหล่งบนเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานว่า เริ่มตั้งหลักแหล่งเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า ชาวกะเลิงอพยพมาอยู่ประมาณ 150 ปีมาแล้ว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เกิดโรคระบาดที่เรียนว่า โรคห่าอย่างรุนแรง มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีการอพยพหนีโรคร้ายบางกลุ่มไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเหล่า ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านบัวประมาณ 1 กิโลเมตรสำหรับบ้านบัวเป็นสถานที่แห่งแรกตั้งหมู่บ้านอยู่ริมห้วยทราย และมีหนองน้ำขนาดใหญ่มีกอบัว ดอกบัวบานสะพรั่ง ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านบัวห้วยทราย แต่ต่อมาทางราชการเรียกว่า บ้านบัว เพื่อให้คำเรียกชื่อหมู่บ้านกระทัดรัด แสดงความสำคัญของหนองบัวในหมู่บ้านชาวกะเลิง มีลักษณะรูปร่างเตี้ย ผิวคล้ำ เป็นคนซื่อ ๆ ชอบสนุก และชอบอยู่ตามป่า ตามเขา หาอาหารโดยการล่าสัตว์ หญิงชาวกะเลิง เป็นคนขี้อาย แต่แข็งแรงอดทน
ประเพณีการแต่งกายของชาวกะเลิง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าย้อมครามทอมือ เย็บด้วยมือ ชาวกะเลิง มีวัฒนธรรมการแต่งกาย ดังนี้
- ผ้าซิ่น ใช้ด้าย 2 เส้นมาทำเกลียวควบกัน ใช้ทั้งผ้าฝ้ายธรรมดาและผ้าไหม เป็นผ้าตีนเต๊าะ แต่มีเชิงแถบเล็ก ๆ แคบ 2 นิ้ว นิยมสีเปลีอกอ้อย เข็นด้วยด้ายสีแดง เหลืองเป็นสายเล็ก ๆ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ผ้าฝ้ายเข็น 2 เส้นควบกัน เช่น แดงควบเหลือง น้ำเงินควบขาว เขียวควบเหลือง ถ้าไม่ใช่เป็นผ้าตีนเต๊าะมักนุ่งสั้น
- เสื้อ กะเลิงนิยมแต่งตัวกะทัดรัด เช่น ถ้านุ่งซิ่นผ้าฝ้ายสั้น มักใช้ผ้าทอพื้นบ้าน เป็นตาสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คาดอก โพกผ้าบนศีรษะ สะพายกะหยัง ขึ้นภูเก็บผักเก็บหญ้าส่วนกะเลิง ที่นุ่งซิ่นยาวคลุมเข่ามักสวนเครื่องประดับ เช่น สร้อยข้อมือทำด้วยรัตนชาติ หรือดินเผา ใส่ต่างหูเป็นห่วงกลม เสื้อแขนยาวสีขาวเหลืองเก็บชายเสื้อคาดเข็มขัดเงิน เป็นชุดที่ใช้ในงานมงคลต่างๆ นับเป็นเครื่องแต่งกายที่งดงามที่สุดของชาวเผ่ากะเลิงวัยหนุ่มสาว ส่วนกะเลิงสูงอายุ มักนุ่งซิ่นลายดำ ขาว แดง สวมเสื้อแขนกระบอกย้อมคราม ที่สาบเสื้อมีเหรียญสตางค์แดงติดเป็นแนวกระดุม เกล้าผมสูง
6 .ชนเผ่าไทลาว
ไทยลาว (ไทยอีสาน) ไท-ลาว Laotian ตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Langauge Family) กลุ่มไทยลาว หรือทั่วไปเรียกว่า “ชาวอีสาน” ที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในอีสาน ซึ่งชาวภาคกลาง มักจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาว” เพราะว่า มีภาษาพูดเป็นภาษาเดียวกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แต่ความจริงแล้วเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงแต่โบราณ (ร่วมกับไทยเวียง หรือ ชาวเวียงจันทน์) มีตัวอักษรของตนเองใช้มาแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และอาจจะร่วมสมัยสุโขทัย ตัวอักษรที่ใช้มี 2 แบบ คือ อักษรไทยน้อย และอักษรไทยธรรม
อักษรไทยน้อย เป็นอักษรสุโขทัยสาขาหนึ่ง ส่วนอักษรตัวธรรมเป็นอักษรที่ได้ต้นแบบอักษรมอญโบราณ คล้ายอักษรตัว เมืองของภาคเหนือ มีวรรณกรรมท้องถิ่นของตนเอง เช่น เรื่องสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ นางผมหอม ไก่แก้ว ลิ้นทอง กำพร้าผีน้อย ขูลูนางอั้ว ท้าวผาแดงนางไอ่ ฯลฯ อาจจะกล่าวได้ว่ากลุ่มไทยลาว เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน ฉะนั้นภูมิปัญญาสังคม เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี กลุ่มไทยลาวจะเป็นกลุ่มที่สืบทอด และถ่ายทอดให้ชนกลุ่มไทยกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย
ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวหรือชาวอีสาน ที่มีการตั้งหลักปักฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากตีความแล้ว หมายถึงคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย (อีสานเป็นภาษาบาลี แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ในภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติ เช่น เชื้อชาติลาว เขมร ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่แต่โบราณกาล หรืออพยพเข้ามาอยู่ใหม่หลังสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดในอีสาน
ราชสำนักส่วนกลาง ในสมัยก่อนการปฏิรูปการปกครอง 2435 เรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองลาวกาวตะวันออก จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน
ความเป็นมา
เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด 2 อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอๆ กัน
- ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียง คือ ลาว ก็แสดงว่า ลาว มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า 5,600 ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน 14 บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง 5,600 ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว
- ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสาน และมีมาจากที่อื่นด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่าคนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า "อีสาน" โดยประมาณ 1,000 – 7,000 ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่า ลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมิเป็นพวกแรก พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิ ก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ 3 อาณาจักร คือ
- อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี)
- อาณาจักรโยนก เมืองหลวงได้แก่ เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน
- อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจาก
แนวคิดที่ 2 จะเห็นว่า ในคำรวมที่นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เรียกว่า "คนอีสาน" นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ "ลาว" อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้า หรือพวกข่า หมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงกล้าสรุปได้ว่า "อ้ายลาว" ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำเหลือง ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น 3 เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา
ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณยูนานในปัจจุบัน มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาว เป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1272 ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่างๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี 7 คน คือ
- ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
- ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
- ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
- ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
- ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
- ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
- ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนพี่น้องอ้ายลาว
ทั้ง 7 ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกัน โดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า "ไผรบราแย่งแผ่นดินกันขอให้ฟ้าผ่ามันตาย" สำหรับกลุ่มอ้ายลาวนี้ น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียง และลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง)
การแต่งกายของชนชาติไท-ลาว
ผู้ชาย เมื่ออยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม แขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อร่วมงานบุญ จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคล้องคอ
ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น นิยมนุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ ผ้าซิ่น ไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหม เสื้อแบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้จะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางได้รวดเร็ว จึงทำให้เผ่าไทยลาว มีแบบเสื้อแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆ เช่น เสื้อแขนกระบอก คือ ทอจากผ้าแพรตกแต่งให้มีจีบมีระบาย แขนกระบอกผ้าฝ้ายย้อมคราม หรือมัดหมี่ กลุ่มที่แต่งกายแบบดั้งเดิมจริงๆ นิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น
การพัฒนาการของการทอผ้ามัดหมี่ ทำให้ไทยลาว ในปัจจุบันสามารถทอผ้าลายหมี่คั่นหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และนิยมสีฉูดฉาด นอกจากนี้ชาวเผ่าไทยลาวยังนิยมทอผ้าห่ม ผ้าจ่องลวดลายสวยงาม ซึ่งสามารถปรับแต่งมาเป็นผ้าสไบโชว์ลวดลายของผ้าประกอบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี
เครื่องประดับของชาวเผ่าไทยลาว นิยมเครื่องเงินเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น นอกจากเครื่องเงิน ยังนิยมสวมสร้อยที่เป็นรัตนชาติ สอดชายเสื้อในซิ่นหมี่ไหม คาดด้วยเข็มขัดเงิน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของชนเผ่าไทยลาว คือ การนิยมผ้าขาวม้าทั้งชายและหญิง ผ้าขาวม้าที่งดงามคือผ้าไส้ปลาไหล มีสีเขียว-แดง-เหลือง ตามแนวยาว สามารถคัดแปลงเป็นผ้าคล้องคอ ผ้าสไบของสตรีในการเสริมแต่งกายให้งดงามขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น